สธ.ย้ำ ประชาชนอย่าเพิ่งตกใจ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เป็นตระกูลโอมิครอน

สธ.ย้ำ ประชาชนอย่าเพิ่งตกใจ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เป็นตระกูลโอมิครอน แม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ไม่รุนแรง

สุขภาพ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้โควิด-19 สายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด จากการตรวจสายพันธุ์ระหว่างวันที่ 8 – 14 ตุลาคม 2565 จำนวน 128 ราย เป็นกลุ่มของ BA.4/BA.5 126 ตัวอย่าง ซึ่ง BA.5 พบมากที่สุด ส่วน BA.2 พบเล็กน้อยเพียง 2 ตัวอย่าง และไม่พบ BA.2.75 ทำไมโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ถึงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น? นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีการกลายพันธุ์ของโอมิครอนไปมากมาย โดยเฉพาะตำแหน่งที่อยู่บนโปรตีนหนาม (Spike Protein) ที่จะไปจับกับเซลล์ของมนุษย์ ซึ่งช่วยให้เชื้อมีความได้เปรียบในการเติบโต/แพร่ระบาด สามารถหลบภูมิคุ้มกัน และเป็นเหตุให้ติดเชื้อได้ หากกลายพันธุ์หลายตำแหน่งมากเท่าไร โอกาสการแพร่กระจายที่จะมาแทนที่ตัวเดิมก็จะมากขึ้น โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ มีอะไรบ้าง? (จากข้อมูล ณ วันที่ 17 ต.ค. 65) จากการเฝ้าระวังสถานการณ์การกลายพันธุ์ของประเทศไทยนั้น กรณี BA.2.75 และ BA.2.75.x จากฐานข้อมูล GISAID มีรายงานแล้วรวม 19 ราย และขณะนี้พบตระกูลลูกหลาน ได้แก่ BA.2.75.1, BA.2.75.2, BA.2.75.3 และ BA.2.75.5 เพิ่มอีก 11 ราย รวมแล้วประมาณ 30 ราย ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ XBB ในประเทศไทย ขณะนี้พบจำนวน 2 ราย: (1) หญิงต่างชาติอายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง ระหว่างกักตัวผู้ป่วยไม่มีอาการไอ ไม่มีไข้ (2) คนไทยอายุ 49 ปี เดินทางมาจากสิงคโปร์ มีอาการไอ คัดจมูก มาตรวจจึงทำให้พบเชื้อ และมีอาการไม่มาก ซึ่งทั้ง 2 รายหายเป็นปกติแล้ว โดยข้อมูลพันธุกรรมของสายพันธุ์ XBB ที่พบในประเทศไทย อยู่ระหว่างนำเข้าเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID ส่วนสายพันธุ์ BF.7 เป็นสายพันธุ์ลูกหลานของ BA.5.2.1 มีความสามารถในการแพร่ระบาดน้อยกว่า XBB และ BQ.1.1 ซึ่งพบ BF.7 ในไทยแล้ว 2 ราย: (1) เป็นชายต่างชาติอายุ 16 ปี มีอาการไอ เจ็บคอเล็กน้อย (2) หญิงไทยอายุ 62 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยทั้งคู่ไม่ได้มีอาการรุนแรงและหายเป็นปกติแล้ว

รู้ทัน-รับมือ สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย

ข่าวสุขภาพ  สายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นใหม่ และพบในประเทศไทยแล้ว คือ BA.2.75.2 มี 8 ราย BN.1 มี 10 ราย BF.7 มี 2 ราย และ XBB อีก 2 ราย แต่ส่วนใหญ่คนติดเชื้อยังเป็น BA.5 ย้ำว่าประชาชนอย่าเพิ่งตกใจ เพราะเชื้อสายพันธุ์ใหม่เป็นตระกูลโอมิครอน แม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ไม่รุนแรง ซึ่งหากมีอาการก็ขอให้ตรวจหาเชื้อ จะได้ลดการแพร่เชื้อ และมาตรการที่ใช้อยู่ ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่อยู่ในบริเวณที่มีคนจำนวนมาก และการล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือด้วยแอลกอฮอล์ ตลอดจนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และในกรณีที่ฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 4 – 6 เดือนไปแล้ว

แนะนำข่าวสุขภาพ อ่านเพิ่มเติมคลิกเลย : แพทย์เตือน น้ำตาลในเลือดสูง เป็นหนึ่งในสาเหตุอาการปลายนิ้วชา พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน